เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
มุนีนั้นละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว มุนีจึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้
บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ไม่มีความกำหนด
คำว่า ไม่เข้าไปยินดี อธิบายว่า พาลปุถุชนทุกจำพวกย่อมกำหนัด
พระเสขะ 7 จำพวก รวมทั้งกัลยาณปุถุชนย่อมยินดี ยินดียิ่ง ยินดีเฉพาะเพื่อถึง
ธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง
พระอรหันต์เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง พึงมีใจ
เป็นอิสระ (จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
คำว่า ไม่มีความปรารถนา อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความปรารถนา
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ1
ตัณหาที่เรียกว่าความปรารถนานี้ มุนีใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้น
ตรัสเรียกว่า ไม่มีความปรารถนา

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 3/10-11

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :402 }